เทศบาลตำบลแวง

Wang Subdistrict Municipality


ออนไลน์ : 38

แผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน


ความสำคัญของแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน
           การสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการจัดทำแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินนั้นมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อให้นำไปใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ได้แก่ ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตตามกฎหมายการสาธารณสุข และนอกจากนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังสามารถนำไปใช้ ในการวางแผนการบริหารงานในด้านๆ อื่นได้ เช่น การวางแผนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ การวางแผนด้านการพัฒนาชุมชน การวางแผนด้านการวางผังเมือง การวางแผนป้องกันภัยสาธารณะหรือช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่างๆ ฯลฯ โดยแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินจะรวบรวมรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินต่างๆ ของประชาชนทั้งของบุคคลและนิติบุคคลภายในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ 

           แผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินจะมีส่วนประกอบอยู่ 2 ส่วนด้วยกัน คือ แผนที่ภาษี และ ทะเบียนทรัพย์สิน โดยแผนที่ภาษี เป็นแผนที่ที่แสดงตำแหน่ง ลักษณะ ขนาด ของแปลงที่ดิน อาคาร โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง เส้นทางคมนาคม แหล่งน้ำ และอื่นๆ ภายในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทะเบียนทรัพย์สิน เป็นทะเบียนที่แสดงรายการทรัพย์สินและการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน ประกอบด้วย ข้อมูลเกี่ยวกับที่ดิน อาคาร โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้าง ป้าย และการประกอบการค้า ของเจ้าของทรัพย์สินแต่ละคน โดยข้อมูลทั้ง 2 ส่วนดังกล่าว จะเชื่อมกันด้วยรหัสแปลงที่ดิน ซึ่งจะอธิบายในรายละเอียดต่อไป

ความเป็นมาของแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน
             การจัดทำแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน เริ่มเมื่อปี 2520 โดยกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้เทศบาลดำเนินการจัดทำแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการจัดเก็บรายได้ การติดตามเร่งรัดภาษี แต่แนวทางการปฏิบัติในขณะนั้นยังไม่มีความชัดเจนและเทศบาลแต่ละแห่งก็ยังมีความแตกต่างกันในหลายด้าน เช่น วิธีการ พื้นที่ บุคลากร งบประมาณ ฯลฯ จึงทำให้การดำเนินการไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร    
               ในปี 2525 – 2529 แผนที่แม่บทกระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ 3) ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำระบบแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินมาใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพทางการคลัง ซึ่งในขณะนั้นได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากธนาคารโลก จำนวน 31 ล้านบาทเศษ เพื่อจัดทำแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินในเทศบาลทั่วประเทศและเมืองพัทยา ซึ่งผลการดำเนินงานปรากฏว่าเทศบาลและเมืองพัทยาสามารถนำแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน ไปใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ได้อย่างเป็นที่น่าพอใจ


                 ในปี 2537 กระทรวงมหาดไทย ได้ออกระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำ การปรับข้อมูล การใช้ และการเก็บรักษาแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินของเทศบาลและเมืองพัทยา พ.ศ. 2537 ขึ้น เพื่อให้เทศบาลและเมืองพัทยาถือเป็นแนวทางปฏิบัติ และในปี 2542 ได้ขยายผล การดำเนินการไปยังองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 161 แห่ง
               ปัจจุบันกระทรวงมหาดไทย ได้ปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติงานการจัดทำแผนที่ภาษี และทะเบียนทรัพย์สินให้มีความชัดเจนและสะดวกต่อนำไปใช้ในการดำเนินการมากยิ่งขึ้น โดยได้ออกระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2550 และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินไปใช้ เป็นข้อมูลในการจัดเก็บภาษี ตรวจสอบ ติดตาม และเร่งรัดจัดเก็บภาษีให้ครบถ้วน ถูกต้อง และ เป็นธรรมต่อเจ้าของทรัพย์สินอย่างมีประสิทธิภาพ

แผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินคืออะไร?

แผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน คือเครื่องมือที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้เพิ่มประสิทธิภาพในรับชำระภาษีของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีเป้าหมายที่ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินภายในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับภาษี ที่จัดเก็บ และผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นๆ ที่มีหน้าที่ชำระภาษี โดยจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ถูกต้อง เป็นปัจจุบัน และครบถ้วน
             จัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ จะทำให้ผู้ใช้งานสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้งานได้อย่างรวดเร็ว(บริการรับ ชำระได้อย่างรวดเร็ว)
             จัดเก็บข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน จะทำให้สามารถประเมินภาษีได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรม
             จัดเก็บข้อมูล ที่ครบถ้วน จะทำให้สามารถติดตามทรัพย์สินที่ยังไม่ได้ชำระภาษี(จัดเก็บได้เพิ่มขึ้น)
มีจุดเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.2520 กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้เทศบาลทั่วประเทศจัดทำทะเบียนทรัพย์สินขึ้น เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือจัดเก็บรายได้ ติดตาม เร่งรัดภาษี แต่แนวทางปฏิบัติยังไม่มีการกำหนดแน่ชัด ต่อมาได้มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินมาใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพทางด้านการคลังใน แผนแม่บทกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 3(พ.ศ.2525-2529) จึงได้มีการศึกษาและพัฒนาจนถึงปัจจุบัน
ประกอบด้วย
             แผนที่ภาษี คือข้อมูลเชิงพื้นที่ที่แสดงรูปร่างและตำแหน่งที่ตั้งของทรัพย์สิน รวมถึงข้อมูลทางกายภาพที่แสดงถึงตำแหน่งที่ตั้งของทรัพย์สินภายในเขตปกครอง โดยมีการจัดแบ่งพื้นที่ภายในเขตปกครองออกเป็นเขต(Zone) และเขตย่อย(Block) เพื่อให้สะดวกในการจัดเก็บเอกสารและค้นหา
            ทะเบียนทรัพย์สิน คือข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้มีกรรมสิทธิ์แต่ละราย โดยมีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ
View : 4322